สวัสดีน้อง ๆ ทุกคนที่อยากเป็นหมอนะคะ บทความนี้เราจะมาพูดถึงการเตรียมสอบกสพท.กันก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับการสอบกสพท.กันก่อนดีกว่า

 

การสอบกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย

สำหรับการสอบ กสพท. หรือชื่อเต็มๆ คือ “กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย” เป็นการรับตรงของกลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ และเภสัช ซึ่งตามระบบ TCAS แล้วจะอยู่ในรอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน

 

การคิดคะแนน กสพท.

สำหรับการคิดคะแนน กสพท.จะมีคะแนนเต็ม 100% แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 วิชาเฉพาะแพทย์ (ความถนัดแพทย์) คิดเป็น 30% ซึ่งจัดสอบโดย กสพท.เอง ส่วนที่ 2 วิชาสามัญ คิดเป็น 70% ซึ่งจัดสอบโดย สทศ. สำหรับในส่วนนี้จะแบ่งออกเป็น

1) คณิตศาสตร์ 14%

2) ภาษาอังกฤษ 14%

3) วิทยาศาสตร์ 28% (แบ่งออกเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิชาละ 9.33%)

4) ภาษาไทย 7%

5) สังคมศึกษา 7%

แต่!!! มีเงื่อนไขว่า แต่ละวิชาจะต้องได้ไม่ต่ำกว่า 30 คะแนน (หากไม่ถึงจะถูกตัดสิทธิ์จาก กสพท.ทันที)

 

นอกจากนี้จะมีการสอบอีกอย่างหนึ่งที่นักเรียน ม.6 ทุกคนต้องสอบ นั่นคือ “O-NET” ซึ่ง กสพท.ไม่ได้นำคะแนนส่วนนี้มาใช้คิดคะแนน แต่มีเกณฑ์กำหนดไว้ว่า จะต้องได้คะแนนรวมทั้ง 5 วิชา ไม่ต่ำกว่า 60% (นั่นคือต้องได้ไม่ต่ำกว่า 300 คะแนนจาก 500 คะแนน) หากใครได้ไม่ถึงก็จะตัดสิทธิ์จาก กสพท. เช่นกัน

 

วิชาเฉพาะแพทย์ (30%)

สำหรับวิชานี้ถือเป็นส่วนที่มีน้ำหนักคะแนนมากที่สุดใน กสพท. และถ้าเราทำส่วนนี้ได้ดีก็จะไปช่วยคะแนนในส่วนวิชาสามัญได้ ข้อสอบจะมีทั้งหมด 3 ฉบับ (เวลาสอบจะแบ่งสอบเป็น 3 ฉบับ แต่ละฉบับให้เวลาสอบ 75 นาที) ฉบับละ 100 คะแนน รวมเป็น 300 คะแนน แล้วปรับเหลือ 30 คะแนน คนส่วนใหญ่จะตั้งเป้าวิชานี้ที่ประมาณ 20 คะแนนขึ้นไป แต่ปีที่ผ่านมามีคนได้เกิน 20 น้อยมาก เนื่องจากข้อสอบค่อนข้างยาก สำหรับวิชานี้จะแบ่งออกเป็น

 

1) พาร์ทเชาวน์ปัญญา ปีล่าสุดมี 45 ข้อ สำหรับพาร์ทนี้ก็จะมีหลายแบบทั้งอนุกรม มิติสัมพันธ์ วิเคราะห์เงื่อนไข โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์แบบง่ายๆ (แต่ตัวเลขค่อนข้างถึก) การวิเคราะห์ข้อมูลจากตาราง แล้วก็เป็นบทความภาษาไทยให้อ่านจับใจความ หรือสรุปความที่ได้จากข้อมูล

วิธีเตรียมตัว: สำหรับวิชานี้มีวิธีเดียวก็คือการ “ฝึกทำด้วยตนเอง” เพราะการอ่านแทบไม่ได้ผลเลย (อาจใช้วิธีการอ่านจากตัวอย่างในช่วงแรกๆ เพื่อให้ได้แนวคิด) และที่สำคัญต้อง “จับเวลา” เพราะคนส่วนใหญ่มักทำไม่ทัน ดังนั้นจึงต้องจับเวลาทำจริง โดยควรจับเวลาทำไม่เกินข้อละ 1 นาที 30 วินาที แนะนำว่าควรทำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน วันละไม่ต้องมากประมาณ 10 ข้อก็ได้ แต่เน้นความสม่ำเสมอ พาร์ทนี้คะแนนสอบที่ได้ขึ้นกับการฝึกฝนจริงๆค่ะ

หนังสือ: สำหรับใครที่เรียนพิเศษ ส่วนใหญ่แล้วพวกหนังสือที่เรียนพิเศษจะมีแบบฝึกหัดให้มาฝึกทำเอง ควรทำให้หมดทั้งเล่ม แล้วถ้ายังมีเวลาเหลือก็ไปหาซื้อพวกหนังสือเชาวน์ต่างๆ หรือพวกหนังสือความถนัดแพทย์ที่มีขายตามท้องตลาดมาฝึกทำเพิ่มเติมได้

 

2) พาร์ทจริยธรรม ปีล่าสุดมี 80 ข้อ โดยให้เวลาแค่ 75 นาที แสดงว่าข้อละไม่ถึงนาที!!! พาร์ทนี้จะเป็นการยกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันหรือเหตุการณ์ที่เป็นข่าวในช่วงนั้นมาถามว่าเรามีความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร

 

วิธีเตรียมตัว: สำหรับพาร์ทนี้ก็แทบไม่ต้องเตรียมตัวไปเลยและการเรียนพิเศษและการทำโจทย์ก็แทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย (ปีล่าสุดแทบไม่มีเคสเกี่ยวกับทางการแพทย์เลย) ดังนั้นจึงไม่ควรไม่เสียเวลาอ่านพาร์ทนี้มาก อาจจะเรียนพิเศษหรืออ่านตัวอย่างโจทย์นิดๆหน่อยๆ เพื่อให้ได้แนวคิดก็พอ สิ่งที่จะแนะนำอย่างเดียวสำหรับพาร์ทนี้คือคนไหนที่อ่านหนังสือช้า อาจจะต้องฝึกอ่านให้เร็ว เพราะเวลาสอบโจทย์ค่อนข้างยาวและบางข้ออ่านแล้วค่อนข้างงงๆ อาจทำให้ทำข้อสอบไม่ทัน สำหรับเวลาสอบจริง พาร์ทนี้ให้ลืมทุกอย่างที่เคยอ่านมาทั้งหมดได้เลย เวลาสอบ “ให้เชื่อมั่นในความคิดตนเอง” และพยายามอย่าลังเลนาน อย่าคิดถึงหนังสือเล่มนู้นเล่มนี้ว่าเขียนไว้อย่างไร

 

หนังสือ: สำหรับพาร์ทนี้ไม่ค่อยมีหนังสือเเนะนำ

 

3) พาร์ทเชื่อมโยง สำหรับพาร์ทนี้ก็จะคล้ายๆ GAT เชื่อมโยง แต่สำหรับ กสพท จะเป็นแบบ 20 คำเชื่อมโยง และไม่มีการระบายตัวหนาให้ในบทความ (แต่ให้เวลาสอบน้อยกว่า GAT) แต่โดยรวมพาร์ทนี้ค่อนข้างจะชิวที่สุดและทำทันเกือบทุกคน และเป็นพาร์ทที่ควรเก็บเต็ม 100 เพื่อไปช่วยคะแนน 2 พาร์ทที่ผ่านมา

 

วิธีเตรียมตัว: สำหรับพาร์ทนี้เน้น “การฝึกทำ” เช่นกัน โดยสามารถเตรียมไปพร้อมๆ กับ GAT เชื่อมโยงได้เลย โดยช่วงแรกๆ อาจเตรียมในส่วน GAT เชื่อมโยงซึ่งง่ายกว่า แล้วพอจับทางได้และมีความชำนาญแล้วก็ลองทำเชื่อมโยงแบบ กสพท. ดูครับ เป็นไปได้ควรทำทุกวัน วันละ 1 บทความก็เพียงพอ สะสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ พาร์ทนี้ควรจดสรุปข้อผิดพลาดของตนเองหรือ highlight ส่วนที่เคยผิดไว้ แล้วมาทบทวนวันก่อนสอบค่ะ

 

หนังสือ: สำหรับใครเรียนพิเศษก็ทำให้หมดทั้งเล่มเลย โจทย์มีให้เยอะมาก ถ้ามีเวลาเหลือก็ไปลองซื้อหนังสือที่เป็นเชื่อมโยงแบบ กสพท. มาทำได้ค่ะ

 

สรุปโดยรวมแล้ว วิชาความถนัดแพทย์ จะเน้นที่ “การฝึกทำ” โดยควรทำคะแนนในพาร์ทเชื่อมโยงและเชาวน์ปัญญาให้ดี และไม่ควรหวังคะแนนจากพาร์ทจริยธรรมมาก ดังนั้น จึงอยากแนะนำให้ฝึกทำตั้งแต่เนิ่นๆ วันละเล็กละน้อยสะสมทักษะและประสบการณ์มาเรื่อยๆ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะมาเร่งทำในช่วงท้ายก่อนสอบไม่กี่เดือนน้า โดยเฉพาะใครที่กลัวว่าจะสู้คนอื่นในส่วนวิชาสามัญไม่ได้ คะแนนส่วนนี้เป็นส่วนที่น่าเก็บอย่างยิ่งจ้า

 

วิชาคณิตศาสตร์ (14%)

สัดส่วน % วิชานี้ค่อนข้างมากนะคะ สำหรับคณิตศาสตร์ของ 9 วิชาค่อนข้างง่ายกว่า PAT1 ครโดยส่วนมากข้อสอบจะออกวัด concept และมีจุดหลอกค่อนข้างมาก ตัวเลขค่อนข้างลงตัว (ไม่ถึกเหมือน PAT1) แต่จะเน้นไปทาง speed test ครับ มีจำนวน 30 ข้อ ให้เวลา 90 นาที แบ่งออกเป็น 2 ตอน

ตอนที่ 1 ปรนัย 5 ตัวเลือก จำนวน 10 ข้อ ข้อละ 2 คะแนน ส่วนนี้จะค่อนข้างง่ายมากๆ ดังนั้นจึงควรทำได้ทุกข้อและใช้เวลาให้น้อยที่สุด (ไม่ควรเกิน 15-20 นาที) เพื่อไปใช้เวลากับตอนที่ 2 ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่า

ตอนที่ 2 ปรนัย 5 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ ข้อละ 4 คะแนน ส่วนนี้ควรเลือกข้อที่ทำได้ก่อน ข้อไหนทำไม่ได้ให้ข้ามไปก่อน เพราะอย่าลืมว่าเมื่อหารเฉลี่ยแล้วจะมีเวลาทำข้อละ 3 นาทีเท่านั้น!! จึงไม่ควรติดอยู่กับข้อใดข้อหนึ่งนานเกินไป

 

วิธีเตรียมตัว: แน่นอนว่าคณิตศาสตร์เป็นวิชาทักษะ ดังนั้นจึงต้องอาศัย “การฝึกทำ” อย่างสม่ำเสมอ เป็นไปได้ควรเก็บเนื้อหาให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีเวลาสำหรับการฝึกทำโจทย์ สำหรับการฝึกทำโจทย์ควรแยกเป็น 2 ขั้นนะ

1) ทำให้ได้: ขั้นนี้เป็นขั้นแรกเลย เพราะพี่เชื่อว่า “ถ้าทำไม่ได้ จะให้เวลานานเท่าไหร่ ก็ทำไม่ได้อยู่ดี” ดังนั้น การทำโจทย์ในช่วงแรกๆ ควรแยกทำทีละบทก่อน โดยยังไม่ต้องจับเวลา เพื่อให้เราสามารถนำเนื้อหาที่อ่านไปมาใช้ทำโจทย์ได้ แล้วจึงมาทำข้อสอบแบบรวมทุกบท (ยังไม่ต้องจับเวลา) เพื่อให้เราทราบจุดบกพร่องของตนเองและทำการแก้ไขในบทนั้นๆ ได้

2) ทำให้ทัน: พอเราทำได้หมดเแล้ว ก็ต้องมาฝึกจับเวลาและจำลองสนามสอบเหมือนจริง โดยอาจนำข้อสอบปีเก่าๆ (ควรทำให้ครบทุกปี) มาจับเวลาทำจริง โดยจำลองให้เหมือนสนามจริง (อาจปริ้นท์กระดาษคำตอบจากเว็บ สทศ. มาทดลองฝนจริงเลยก็ได้ครับ) เพราะเมื่อมีเวลามากดดัน ประสิทธิภาพหรือคะแนนที่ได้อาจลดลงได้ บางคนพลาดที่ไม่ได้ฝึกจับเวลา พอสอบจริงคะแนนก็เลยพังเลย เพราะ ข้อที่ทำไม่ทัน = ข้อที่ทำไม่ได้ = ไม่ได้คะแนน

โดยส่วนตัววิชานี้พี่แทบจะไม่ใช้วิธีท่องจำสูตรเลย แต่จะใช้การเข้าใจที่มาของสูตร เพราะการเข้าใจที่มาจะทำให้สามารถประยุกต์ทำโจทย์ได้ทุกรูปแบบ

 

หนังสือ: Set หนังสือของพี่ณัฐ อุดมพาณิชย์ เลยครับ เช่น Syntax, Vaccine, คณิต9วิชา รวมทั้งโหลดข้อสอบเก่ามาทำจากเว็บไซต์ http://rathcenter.com/

 

วิชาภาษาอังกฤษ (14%)

เป็นวิชาที่มี % เยอะมาก เพราะฉะนั้นเลยเหนื่อยหน่อยนะ วิชานี้เน้น speed test เช่นกัน ข้อสอบมี 80 ข้อ ให้เวลา 90 นาที แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ

ส่วนที่ 1 Conversation 20 ข้อ ส่วนนี้ไม่ค่อยยากมาก คล้ายๆ กับ conversation ใน GAT เลย (ควรใช้เวลาในส่วนนี้ให้น้อยที่สุดค่ะ)

ส่วนที่ 2 Reading 40 ข้อ ส่วนนี้ถือเป็นส่วนปราบเซียนเลย ควรเอาไว้ทำหลังจากทำส่วนอื่นเสร็จหมดแล้ว เพราะ passage ยาวมากๆ แต่เวลามีให้น้อยมากๆ ส่วนนี้จึงต้องฝึกอ่านมาให้เยอะๆ

ส่วนที่ 3 Cloze Test 15 ข้อ ส่วนนี้วัดพวก Grammar กับ Vocab ก็คล้ายๆ กับ Cloze Test ทั่วไป

ส่วนที่ 4 Paragraph Organization (เรียงประโยค) 5 ข้อ ส่วนนี้ไม่ค่อยยาก เน้นที่เทคนิคและความเร็วในการทำ

 

วิธีเตรียมตัว: วิชานี้พี่ใช้วิธีทำแบบฝึกหัดและข้อสอบเก่าๆ ไปเรื่อยๆค่ะ แต่ที่สำคัญคืออย่าลืมจับเวลาด้วยนะ เพราะวิชานี้ส่วนใหญ่ทำไม่ค่อยทันกัน (ซึ่งพี่ก็เป็นหนึ่งในนั้น)

 

หนังสือ: Set หนังสือของ ดร.ศุภวัฒน์ พุกเจริญ หรือไม่ก็ Set ของอาจารย์ทีวี จูเนียร์ (สุรชัย รอดงาม)

 

วิชาฟิสิกส์ (9.33%)

วิชานี้พี่ถือว่ากลางๆ ไม่ยากหรือไม่ง่ายจนเกินไป ข้อสอบจะมีทั้งหมด 25 ข้อ ให้เวลา 90 นาที ซึ่งตกข้อละ 3 นาทีกว่าๆ จึงเป็นวิชาที่มีเวลาทำค่อนข้างเต็มที่ ข้อสอบโดยมากจะตอบติดตัวแปรเลย ซึ่งค่อนข้างดีที่ไม่ต้องคิดตัวเลข แต่บางคนก็อาจมึนๆ ตัวแปรได้

 

วิธีเตรียมตัว: การเตรียมตัวในวิชานี้คล้ายๆ กับวิชาคณิตศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่ต้องอาศัย “การฝึกทำโจทย์” เช่นกัน โดยควรเก็บเนื้อหาให้เร็วที่สุด เพื่อเอาเวลาที่เหลือมาฝึกทำโจทย์ วิชานี้ข้อสอบค่อนข้างซ้ำๆ เดิมกับปีก่อน ดังนั้น การฝึกทำข้อสอบเก่าจึงสำคัญมาก (บางข้อออกซ้ำแนวเดิมมาทุกปี) สำหรับใครที่พื้นฐานคณิตศาสตร์ไม่ค่อยดี อาจจะเหนื่อยหน่อย เพราะบางข้อจำเป็นต้องใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ เช่น ตรีโกณมิติ หรือการจัดรูปตัวแปรต่างๆ ดังนั้น อาจจะต้องฝึกทำข้อสอบติดตัวแปรให้มากๆ

 

หนังสือ: สำหรับวิชานี้พี่ทำแบบฝึกหัดในหนังสือที่เรียนพิเศษทั้งหมดเลยค่ะ

 

วิชาเคมี (9.33%)

วิชานี้เป็นวิชาที่มีทั้งที่เป็นบรรยาย (ท่องจำ) และเป็นคำนวณอย่างละครึ่ง ซึ่งพี่ว่าน่าจะเป็นวิชาที่เก็บคะแนนได้สำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนที่ชอบท่องจำหรือชอบคำนวณนะ สำหรับวิชานี้เป็นวิชาแห่ง speed test อีกวิชาเลย ข้อสอบมี 50 ข้อ 90 นาที ตกข้อละ 1 นาที 48 วินาที ซึ่งถ้าสำหรับข้อบรรยาย ถือว่าเวลาค่อนข้างมาก แต่สำหรับข้อคำนวณแล้วถือว่าเวลาน้อยมากนะ ดังนั้น วิชานี้จึงเป็นเวลาที่ต้องบริหารจัดการเวลาให้ดี โดยส่วนตัวพี่จะเก็บพวกบรรยายก่อนค่ะ แล้วค่อยมาเก็บคำนวณที่หลัง สำหรับเคมีใน 9 วิชาค่อนข้างง่ายกว่าเคมีใน PAT2 พอสมควร

 

วิธีเตรียมตัว: การเตรียมตัวในวิชานี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ในส่วนบทที่เป็นคำนวณ (ปริมาณสาร, แก๊ส, อัตรา, สมดุล, กรดเบส) จะเตรียมคล้ายๆ วิชาคำนวณ นั่นคือการเก็บเนื้อหาทั้งหมดให้เร็วที่สุด แล้วเอาเวลาที่เหลือมาฝึกทำโจทย์ ในส่วนบทที่เป็นบรรยาย (อะตอม, ตารางธาตุ, พันธะเคมี, ไฟฟ้า, อุตสาหกรรม, อินทรีย์, ชีวโมเลกุล, ปิโตรเลียม) ก็จะใช้วิธีการอ่านทบทวนเนื้อหาเป็นส่วนใหญ่ อ่านซ้ำหลายๆ รอบ แล้วก็ฝึกทำแบบฝึกหัดด้วย สำหรับจุดเน้นของวิชาเคมี คือ “การจับเวลา” เพราะ ข้อสอบส่วนใหญ่ไม่ยากและทุกคนทำได้เกือบหมดทุกข้อ แต่ติดปัญหาที่ทำไม่ทันนี่แหล่ะ รวมถึง “ความละเอียดรอบคอบ” เพราะเวลาที่กดดัน จะทำให้ความละเอียดรอบคอบของเราลดลง วิชาเคมีจะมีจุดหลอกเยอะมาก ส่วนคำนวณก็สามารถหลอกหน่วยได้ ส่วนบรรยายก็สามารถใช้คำที่หลอกได้ถ้าเราอ่านไม่ดี

 

หนังสือ: สำหรับวิชานี้พี่อ่านจากหนังสือเรียนพิเศษเช่นกันค่ะ

 

วิชาชีววิทยา (9.33%)

วิชานี้เป็นวิชาที่เนื้อหาเยอะและกว้างมากๆเลยฮืออ สำหรับชีวะ 9 วิชามีทั้งหมด 80 ข้อ ให้เวลา 90 นาที ก็ถือว่าพอดีๆ อาจจะต้องมีใช้เวลาเยอะหน่อยในส่วนคำนวณ Genetic แต่โดยรวมก็สามารถทำข้อสอบได้ทันพอดีนะ

 

วิธีเตรียมตัว: วิชานี้ค่อนข้างจะแตกต่างจากวิชาที่ผ่านๆ มา เพราะวิชานี้เน้นที่ปริมาณเนื้อหาที่เยอะมากๆ ดังนั้น จึงเน้นที่การอ่านเนื้อหาซ้ำหลายๆ รอบค่ะ บางเนื้อหาที่สามารถทำความเข้าใจได้ ก็ควรใช้การทำความเข้าใจนะ แต่ถ้าเนื้อหาไหนจำเป็นต้องใช้ความจำก็ต้องจำ สำหรับพี่จะใช้การเขียนลอกลงเศษกระดาษซ้ำหลายๆ ครั้ง เพราะอ่านเฉยๆ แล้วจำไม่ค่อยได้ พอใช้วิธีนี้ก็สามารถจำได้ดีขึ้นครับ สำหรับวิชานี้ การทำแบบฝึกหัดไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ อาจจะทำข้อสอบเพื่อเช็คความเข้าใจโดยรวมหรือทำข้อสอบปีเก่าๆ เพื่อดูแนวข้อสอบก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำโจทย์เยอะๆ เหมือนวิชาคำนวณ (ยกเว้นพวก Genetic ที่เป็นคำนวณก็อาจจะต้องฝึกทำโจทย์ให้หลากหลายค่ะ) ดังนั้น วิชานี้จึงเน้นการอ่านซ้ำๆ มากกว่าการทำโจทย์

 

หนังสือ: Essential Biology ที่เป็นรูปปูก็สรุปได้ค่อนข้างดี หรือไม่ก็อ่านจากหนังสือกระทรวงก็ได้

 

วิชาภาษาไทย (7%)

วิชานี้เป็นวิชาที่ไม่ค่อยยากและเป็นวิชาที่น่าเก็บคะแนนมากค่ะ สำหรับวิชานี้ข้อสอบมี 50 ข้อ 90 นาที ซึ่งถือว่าทำได้ทันแบบชิวๆ (ขนาดพี่เป็นคนอ่านหนังสือช้าก็ยังทำทันได้แบบสบายๆ)

 

วิธีเตรียมตัว: วิชานี้พี่ใช้วิธีการปริ้นท์ข้อสอบของปีเก่าๆ ออกมาทำเลย (ถ้าทำข้อสอบเก่า 9 วิชาได้ครบทุกปี ก็น่าจะเพียงพอแล้วค่ะ) เพราะสำหรับวิชานี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการอ่านจับใจความแล้วก็สรุปความ หลักภาษาแทบไม่ค่อยมี อย่างมากก็จะออกเป็นแนวเดิมๆ ซึ่งสามารถอ่านเฉพาะเรื่องที่ออกได้เลย

 

หนังสือ: อ่านไม่ทันครับ55555 เลยไม่ได้ซื้อหนังสือมาอ่านเลย

 

วิชาสังคมศึกษา (7%)

วิชานี้เป็นวิชาที่ปราบเซียนเด็กสายวิทย์ที่แท้ทรู55555 ข้อสอบมี 50 ข้อ 90 นาที แต่เป็น 50 ข้อที่ออกครอบโลกครอบจักรวาลจริงๆ บางช้อยในข้อสอบไม่เคยได้ยินมาก่อนในชีวิต วิชานี้ไม่ต้องห่วงว่าทำไม่ทันจ้า เวลาเหลือเฟือมาก ส่วนใหญ่ 30-60 นาทีก็เสร็จแล้ว (เพราะทำไม่ได้555555)

 

วิธีเตรียมตัว: ส่วนใหญ่คนจะกลัววิชานี้ เพราะถ้าวิชานี้ไม่ถึง 30 คะแนน ก็จะโดนตัดสิทธิ์ กสพท ครับ ดังนั้น เป้าหมายของวิชานี้ คือ ให้ได้เกิน 30 คะแนนค่ะ ที่เกินจากนั้นก็ถือเป็นกำไรไปช่วยวิชาอื่นละกัน สำหรับพี่ก็จะอ่านพวกสรุปเลย เพราะถึงอ่านเนื้อหาไปก็ไม่มีทางจำได้หมดอยู่ดี เน้นว่าอ่านเอา idea ก็พอ ส่วนใหญ่คนจะเน้นอ่านพวกพระพุทธศาสนากับเศรษฐศาสตร์ เพราะศาสนาออกค่อนข้างตรงตัว ถ้าจำได้ก็ได้เลย ส่วนเศรษฐศาสตร์จะค่อนข้างคิดโดยใช้หลักเหตุผลได้ เลยจำไม่ค่อยมาก แต่สำหรับพี่จะค่อนข้างชอบเรื่องพวกกฎหมาย ก็เลยจะอ่านพวกหน้าที่พลเมืองไปด้วย ส่วนภูมิศาสตร์พี่จะอ่านเฉพาะแนวที่ออกบ่อยๆ (พวกเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ สนธิสัญญาต่างๆ) สำหรับประวัติศาสตร์นี่บอกตามตรงครับว่า “เท” (คำว่า “เท” ของพี่นี่คือ ไม่อ่านเลยแม้แต่น้อยนะ) เพราะพี่คิดว่าประวัติศาสตร์มันกว้างมาก อ่านไปก็ไม่ตรงอยู่ดี สู้เอาเวลาไปอ่านส่วนอื่นหรือวิชาอื่นน่าจะคุ้มกว่า สำหรับวิชานี้ตอนสอบ พี่ใช้วิธีค่อยๆ อ่านแล้วตัดช้อยข้อที่เป็นไปไม่ได้เอา แต่ละข้อมีเวลาเกือบ 2 นาที เพราะฉะนั้นไม่ต้องรีบเร่ง

 

หนังสือ: อ่านหนังสือสรุปสังคม Social Studies เล่มสีน้ำตาลของติวเตอร์พอยท์ ก็สรุปได้ค่อนข้างดี มีรูปสีประกอบน่าอ่านนะ

 

แนะนำแผนการเรียนพิเศษ : (กรณีที่ กสพท. กับ 9 วิชายังสอบช่วงเดือน มี.ค.)

สำหรับใครที่จะลงเรียนพิเศษ อยากแนะนำว่าควรเริ่มเรียนคอร์ส Ent ตั้งแต่ช่วงปีใหม่ตอนอยู่ ม.5 เทอม 2 (หรืออย่างช้าไม่ควรเกินตอนปิดเทอม ม.5) และควรเริ่มเก็บพวกวิชาคำนวณ (คณิต, ฟิสิกส์, เคมี) ก่อน เพราะจะได้มีเวลาไปทำฝึกทำโจทย์ โดยอาจมีแผนการเรียนดังนี้

ภายใน Summer ต้องจบคณิตและฟิสิกส์

ภายใน ม.6 เทอม 1 ต้องจบเคมีและชีววิทยา

ภายในปิดเทอม ต.ค. ต้องจบไทยและสังคม

ช่วง ม.6 เทอม 2 เป็นการทบทวนเนื้อหา, ฝึกทำโจทย์, อาจลงพวกคอร์สตะลุยโจทย์หรือ UpSkill แต่ละวิชา (อาจลงตั้งแต่ปิดเทอม ต.ค.ก็ได้)

สำหรับวิชาภาษาอังกฤษและความถนัดแพทย์ เป็นวิชาที่ควรฝึกมาอย่างสม่ำเสมอ และคอร์ส Ent วิชาเหล่านี้จะมีจำนวนชั่วโมงไม่เยอะเท่าวิชาข้างบน จึงสามารถเก็บควบคู่กับวิชาอื่นๆ มาได้ตั้งแต่ช่วง Summer ค่ะ

 

มาถึงตรงนี้แล้ว ก็ขอขอบคุณทุกคนที่ติดตามอ่านมาจนถึงตรงนี้นะค้า ก็หวังว่าบทความนี้จะสามารถเป็นคำแนะนำการเตรียมสอบให้กับน้องๆ ที่จะเตรียมสอบ กสพท ในปีถัดไปได้ค่ะ สุดท้ายนี้ก็อยากบอกว่า สิ่งที่ได้เล่ามาทั้งหมดเป็นเพียงแนวทางหนึ่งที่พี่ใช้ในการเตรียมสอบค่ะอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน ทุกคนไม่จำเป็นต้องเชื่อหรือทำตามที่พี่แนะนำทุกอย่าง สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “การลองลงมือทำด้วยตนเอง” นะค่ะ เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับตนเองเพื่อไปให้ถึงความฝัน ถ้ามีประโยชน์ก็แชร์ต่อบอกบุญให้เพื่อนกันน้า ขอบคุณทุกคนมากๆนะคะ สำหรับวันนี้สวัสดีค่า

—————————————————————————————————————————

ประชาสัมพันธ์ ; โครงการทดสอบความรู้เสริมปัญญาเทอม2 https://sermpanya.com/w9/project-2563-2/

1) สนใจสอบเทอม2 กับเสริมปัญญาผ่านสนามกลางชิงโล่รางวัลจากท่านรัฐมนตรี คลิก https://sermpanya.com/apponline/

2) สนใจสอบonlineผ่านคอมพิวเตอร์ (มีเหรียญรางวัลด้วย) คลิก https://sermpanya.com/w9/online-exam-2563-2/

3) โรงเรียนสนใจรับสมัครสอบ(สำหรับอาจารย์ผู้ประสานงานรับสมัครสอบเท่านั้น) คลิก https://sermpanya.com/w9/apply-for-test-1/

4) สนใจสั่งซื้อ Set ชีทสรุปเนื้อหา 5 วิชา พร้อมข้อสอบเก่าเช็คลำดับที่ได้ ดูรายการสั่งซื้อ คลิก https://sermpanya.com/w9/buyexam/

สามารถดำเนินการได้เองผ่านลิ้งค์ข้างต้นหรือต้องการให้แอดมินดำเนินการให้สามารถทักแชทได้เลยครับ ขอบคุณครับ