ต่อจากบทความที่แล้ว

คณะที่เรียนแล้วมีโอกาสเติบโตในอนาคตThailand 4.0 (ตอนที่1/2)

บทความนี้ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมในอนาคต ที่รัฐบาลจะช่วยผลักดันให้เป็น New S-Curve (การเติบโตครั้งใหม่ของประเทศ) สืบต่อไปครับ

6. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics)

จากการที่ประเทศไทยมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันเพิ่มขึ้น กลุ่มบริษัทที่เป็นโรงงานค่อนข้างจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากการที่จะผลักภาระไปยังผู้บริโภคด้วยการเพิ่มราคาสินค้าขึ้นเป็นไปได้ยากมากด้วยจำนวนผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าคล้ายคลึงกันมีอยู่หลายเจ้ามากหากปรับราคาขึ้นกลุ่มผู้ซื้อย่อมหันไปหาผู้ขายที่เสนอราคาต่ำกว่า

ด้วยเหตุนี้กลุ่มโรงงานผู้ผลิตจึงต้องใช้วิธีลดต้นทุนทางส่วนอื่นแทน โดยการใช้robotเข้ามาช่วยทำงานแทนคนเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะ 1) robotสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องหยุดพัก 2) robotไม่ต้องจ่ายค่าทำงานล่วงเกินเวลา 3) robotจะไม่ประท้วงขอขึ้นค่าแรง และ 4) robotเมื่อคำนวณต้นทุนการผลิตสินค้าต่อหน่วยในระยะยาวแล้วจะประหยัดกว่าการจ้างแรงงานคนค่อนข้างมาก

อาชีพที่น่าสนใจในสายงานนี้ในอนาคต ได้แก่ ผู้จัดการโรงงาน, วิศวกรฝ่ายควบคุมการผลิต, วิศวกรฝ่ายซ่อมบำรุง, นักวิทยาศาสตร์ด้านหุ่นยนต์

7. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)

ประเทศไทยศูนย์กลางLogistic(การขนส่งสินค้า)แห่งอาเซียน ด้วยภูมิศาสตร์ที่ขึ้นเหนือไปก็เจอจีน ลงใต้ไปก็เจอสิงคโปร์ เลี้ยวซ้ายไปก็เจออินเดีย เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ไม่ว่าใครต่างก็อิจฉาในดินแดนแห่งนี้ รวมถึงอุดมไปด้วยทรัพยากรที่มีค่าเช่น ทะเล ภูเขา ข้าว ทุเรียน ฯลฯ ทำให้ไทยได้เปรียบเรื่องการส่งออกมหาศาล

ด้านการบินจำนวนนักท่องเที่ยวมายังประเทศไทยได้รับอานิสงค์หลักจากประเทศจีนซึ่งเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประชากรค่อนข้างมาก ประชาชนช่วงหลังเริ่มมีฐานะดีขึ้น และจุดหมายที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวจีนเป็นอย่างสูง คือ ประเทศไทยนั่นเอง ประกอบกับประเทศใกล้เคียงไทยเริ่มงดเว้นวีซ่าให้ทำให้นักท่องเที่ยวไทยไปต่างประเทศมหาศาล ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดคือธุรกิจเกี่ยวกับการบินนั่นเอง

ประเทศไทยมีเป้าหมายใน 5 ชนิดธุรกิจดังนี้

  1. กิจการสาธารณูปโภคและบริการเพื่อการขนส่ง เช่น Inland Container Depot (ICD) กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือบรรทุกสินค้า กิจการขนส่งทางรางและ สนามบินพาณิชย์
  2. ศูนย์รวมกิจการโลจิสติกส์ทันสมัย เช่น การขนส่งทางอากาศ (Air Cargo) ศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย (International Distribution Center: IDC) การขนส่งแบบCold Chain และการขนส่งที่ใช้ Big Data and Analytics
  3. การบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair and Overhaul: MRO) ที่มุ่งเน้นการซ่อมบำรุงโครงสร้างเครื่องบินลำตัวแคบ (Narrow-body Airframe Maintenance) ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในภาคพื้นเอเชีย
  4. การพัฒนาพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานให้เป็นเขตอุตสาหกรรมสำหรับธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (High-value Manufacturing) เช่น ธุรกิจที่ต้องการความเร็วจากการขนส่งทางอากาศ (Time-sensitive Products)
  5. การให้บริการฝึกอบรมนักบินและลูกเรือ (Pilot and Cabin Crew) และบุคลากร ด้านเทคนิค (Technician) รวมถึงด้านซ่อมบำรุงและพนักงานภาคพื้น (Ground Staff)

อาชีพที่น่าสนใจในสายงานนี้ในอนาคต ได้แก่ นักบิน, พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน, วิศวกรวางแผนซ่อมบำรุงอากาศยาน, นักวางแผนขนส่งและโลจิสติกส์

***นักบิน และ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน สามารถจบคณะใดก็มีสิทธิ์สอบเข้าได้***

8. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)

อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะเติบโตเร็วในอนาคต และเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง เนื่องจากมีความพร้อมทางด้านวัตถุดิบทางการเกษตร เช่น การที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก และมีอุตสาหกรรมเคมีและอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงเอทานอลที่พัฒนาแล้ว

ขณะที่การสร้างอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจร โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมกลางน้ำการผลิตกรดแลคติกและกรดซักซินิกจากเอทานอล จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างอุตสาหกรรมต้นน้ำ (ผลิตเอทานอล) และปลายน้ำ (อุตสาหกรรมเคมี) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีอยู่ ไปสู่การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่สอง (เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากวัตถุดิบที่ไม่เป็นอาหาร เช่น ซังข้าวโพดและชานอ้อย) และเพิ่มการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่สาม (เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากสาหร่ายที่สามารถเพาะเลี้ยงได้

อาชีพที่น่าสนใจในสายงานนี้ในอนาคต ได้แก่ นักธรณีฟิสิกส์, นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม

9. อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของประชาชนมากยิ่งขึ้น คนส่วนใหญ่มีสมาร์ทโฟน เอาไว้ใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเล่น line, facebook, google, … สรุปคือประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตแล้ว

ภาพใหญ่ต่อมาที่จะก้าวเข้าไปสู่ Thailand 4.0 คือ การสร้าง Smart City ที่เป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีทั้งหลายในอนาคต เช่น IOT (Internet of Things), Cloud Computing, 5G, บริษัท Startups, Big Data เป็นต้น

ซึ่งอุตสาหกรรมนี้หากประสบความสำเร็จจะทำให้ประเทศก้าวผ่านกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางเป็นประเทศที่มีรายได้สูง เพราะจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นผู้คิดค้นเอง ทำให้เป็น First mover มีอำนาจในการกำหนดกลยุทธ์ต่างๆก่อน ดังตัวอย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี

อาชีพที่น่าสนใจในสายงานนี้ในอนาคต ได้แก่ โปรแกรมเมอร์, นักวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก, ผู้บริหารระบบเครือข่าย, Digital Content Creator, Project Manager, Account Executive

10. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)

ธุรกิจด้านการแพทย์ในไทยเป็นที่นิยมสำหรับชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีราคาที่ไม่แพงจนเกินไปแต่มีคุณภาพที่ดีมาก เป็นตัวช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้อานิสงค์จากการที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มตัวในเร็วๆนี้อีกด้วย ผู้ที่เข้ามาประกอบอาชีพในด้านนี้จะมีความมั่นคงในอาชีพที่ดีทีเดียว

สำหรับ Thailand 4.0 การแพทย์ครบวงจรของไทยจะครบวงจรมากขึ้นโดยประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่

  1. การให้บริการสมัยใหม่ คือ การให้บริการด้านการแพทย์ผ่านอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน (eHealth and mHealth) โดยใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อและระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Medical Records: EMRs) เพื่อให้คำปรึกษาทางการแพทย์และให้บริการรักษาทางไกลกับผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกแทนการเสียค่ารักษา หรือเพื่อให้บริการผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล
  2. การวิจัยและผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและติดตามผลระยะไกล (Remote Health Monitoring Devices) ซึ่งมีรากฐานมาจากการพัฒนาของเครื่องรับรู้ (Sensors) และอุปกรณ์การวัดสมัยใหม่ โดยอุปกรณ์วินิจฉัยและติดตามผลระยะไกล สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการวินิจฉัยโรคด้วยตนเอง เช่น วัดความดันโลหิต วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น
  3. การวิจัยยาและผลิตเวชภัณฑ์ การวิจัยยาและการผลิตยาที่ทันสมัยนั้น เพื่อลดกระบวนการและลดระยะเวลาการทดลองยาสมัยใหม่ โดยจะมุ่งเน้นที่การผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilar) ซึ่งคือยาสามัญของยาชีววัตถุต้นแบบ (Biologic) ที่มีการวิจัยและจดสิทธิบัตรแต่สิทธิบัตรหมดอายุลงแล้ว ซึ่งปัจจุบันยาชีววัตถุมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีขนาดใหญ่กว่ายาสามัญทั่วไป

อาชีพที่น่าสนใจในสายงานนี้ในอนาคต ได้แก่ วิศวกรชีวการแพทย์, นักทัศนมาตร(ทดสอบสายตา), นักวิทยาศาตร์ด้านการวิจัยยา, อายุรแพทย์, เภสัชกร, พยาบาล

ข้อมูลอ้างอิง ; www.doe.go.th , www.eeco.or.th