ประเทศไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นมาในฐานะผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อส่งต่อไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากการทำข้อตกลง Plaza Accord ทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่ามากของดูแพงในสายตาชาวโลก จึงได้ย้ายฐานการผลิตออกมาเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้โดยมาที่ไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากการที่มีค่าแรงถูกกว่าประเทศอื่นๆในคุณภาพที่ค่อนข้างใช้ได้ และทำเลที่ตั้งประเทศค่อนข้างเหมาะสม

ไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องมาเรื่อยจนเมื่อเร็วๆนี้ มีประเทศคู่แข่งขันที่น่ากลัวเข้ามาคือเวียดนามซึ่งค่าแรงต่ำกว่าครึ่งต่อครึ่ง มีบริษัทที่เริ่มย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังเวียดนามที่เห็นเด่นๆ คือ บริษัท Samsung และ LG ที่มีโรงงานผลิตโทรทัศน์ได้ย้ายออกด้วยเหตุผลเรื่องค่าแรงเนื่องจาก โทรทัศน์ เป็นสินค้าที่กำไรต่อชิ้นไม่สูงมากถ้าประหยัดต้นทุนได้จะมีกำไรที่มากขึ้น

ทีมเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เห็นปัญหาตรงนี้จึงพยายามนำไทยก้าวไปสู่ ธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Added Value) เพื่อเป็น S-Curve (การเติบโตแบบสูงขึ้น) ใหม่ให้ประเทศเติบโตต่อไปอย่างมั่นคง จึงได้มีนโยบายสร้างธุรกิจใหม่ให้อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC (Eastern Economic Corridor) โดยโฟกัสไปที่ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมด้วยกัน ซึ่งหมายถึงการสร้างสายงานรวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลที่จะสนับสนุนผู้ที่จะมาทำงานใน 10 สายธุรกิจนี้ด้วย น้องๆนักเรียน คุณครู หรือ ผู้ปกครอง โดย 5 ข้อแรกคืออุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วแต่ต่อยอดให้ดีขึ้น 5 ข้อหลังคืออุตสาหกรรมในอนาคตครับ เราลองมาดูทั้ง 10 ประเภทธุรกิจกันนะครับ

  1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive)

ไทยเป็นประเทศฐานการผลิตรถยนต์มาอย่างยาวนานโดยเฉพาะรถญี่ปุ่นมีแทบทุกยี่ห้อ โดยอยู่ในอันดับต้นๆของประเทศที่ส่งออกรถยนต์ ในอนาคตรถจะถูกเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าแทนนน้ำมันมากขึ้น แต่บริษัทผู้จัดจำหน่ายรถยนต์จะยังคงอยู่เหมือนเดิม

อาชีพที่น่าสนใจในสายงานนี้ในอนาคต ได้แก่ วิศวกรออกแบบยานยนต์(ในบริษัทผู้จัดจำหน่ายรถยนต์แบรนด์ดังๆ) , บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนในรถไฟฟ้า เช่น ผลิตมอเตอร์รถยนต์, ผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ, วิศวกรขนส่งทางราง

2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)

อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นธุรกิจที่อยู่คู่กับประเทศไทยมายาวนาน เป็นเสาหลักสำคัญในภาคการส่งออกของประเทศไทยในปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่าถึงร้อยละ 24 ของรายได้การส่งออกของประเทศในปี พ.ศ. 2557 ในอนาคตจะมีการประยุกต์ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆให้เข้ากับ internet มากขึ้น หรือที่เรียกกันว่า IOT (Internet of Things)

อาชีพที่น่าสนใจในสายงานนี้ในอนาคต ได้แก่ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์, นักพัฒนาซอฟต์แวร์

3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือน ติดอันดับ 1-10 โลกมาโดยตลอด เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม ในราคาที่ไม่แพง รวมถึงการบริการที่ค่อนข้างเป็นกันเอง ทำให้ผู้ที่มาเที่ยวมักจะกลับมาซ้ำอีก ในตอนนี้และอนาคตข้างหน้าการท่องเที่ยว จะยังคงเป็นหัวใจหลักสำคัญในการก้าวหน้าของประเทศไทย

อาชีพที่น่าสนใจในสายงานนี้ในอนาคต ได้แก่ ตัวแทนการท่องเที่ยว, มัคคุเทศน์, พนักงานโรงแรมใหญ่ๆ

4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology)

ภาคการเกษตรเป็นสาขาอุตสาหกรรมที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมมากที่สุดในประเทศไทย มีมูลค่าถึงร้อยละ 8.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) นอกจากนี้ ยังมีสัดส่วนแรงงานสูงถึงร้อยละ 40 ส่งผลให้การเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันภาคเกษตรกรรมในไทยยังมีผลิตภาพแรงงานอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ จึงมีการมุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพและยกระดับจากการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ มาใช้ เพื่อส่งผลให้เกิดการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมย่อยที่เป็นเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูง เช่น การใช้ระบบเครื่องรับรู้ (Sensors) การใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูง (Advance Datalytics) และระบบอัตโนมัติ การลงทุนและการวิจัยทางเทคโนโลยีชีวภาพ(Biotechnology) เช่น การปรับปรุง พันธุ์พืชและสัตว์ อุตสาหกรรมการคัดคุณภาพ บรรจุ เก็บรักษาพืชผัก ผลไม้ หรือดอกไม้ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การใช้ระบบเซ็นเซอร์ตรวจสอบเนื้อในผลไม้ และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ

อาชีพที่น่าสนใจในสายงานนี้ในอนาคต ได้แก่ นักวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม, นักวิจัยเกษตรกรรม, นักกีฏวิทยา, เกษตรกรรุ่นใหม่

5. อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)

อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างสูงต่อประเทศไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้จำนวนแรงงานมาก มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุด มีมูลค่าเพิ่มสูงที่สุด และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดเมื่อเทียบกับสาขาต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทย

โดยในปัจจุบันมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในตลาดอาหารทั่วโลกอยู่ 3 แขนง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ได้แก่ ความต้องการมาตรฐานความปลอดภัยและความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่สูงขึ้นจากผู้บริโภคอาหาร การเพิ่มขึ้นของความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแหล่งโปรตีน ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เป็นโอกาสในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเพิ่มมาตรฐานด้านการตรวจสอบย้อนกลับ อุตสาหกรรมวิจัยและผลิตโภชนาการเพื่อสุขภาพอาหารที่มีการเติมสารอาหาร (Fortified Foods) และการผลิตอาหารไทยไขมันต่ำ อาหารที่ให้พลังงานต่ำและน้ำตาลต่ำ เป็นต้น

อาชีพที่น่าสนใจในสายงานนี้ในอนาคต ได้แก่ นักเคมีปรุงยา, นักเทคโนโลยีทางอาหาร, ผู้ควบคุมสายงานการผลิต, ผู้ควมคุมสายงารการวิเคราะห์คุณภาพ

ในบทความหน้าจะมาต่อในข้อที่ 6-10 ติดตามชมกันนะครับ

ข้อมูลอ้างอิง ; www.doe.go.th , www.eeco.or.th